Accessibility Tools

ศาลอาญากรุงเทพใต้
Bangkok South Criminal Court

ข่าวสารและกิจกรรม
image

ศาลอาญากรุงเทพใต้

การขอปล่อยชั่วคราวimage

การขอปล่อยชั่วคราว

1.การขอปล่อยชั่วคราว

          การปล่อยชั่วคราว คือ การอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล ตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือขังเป็นเวลานานเกินกว่าจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี เพราะหากไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ควรที่จะให้ปล่อยชั่วคราวไป ตามหลักการของรัฐธรรมนูญที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

2.ใครมีสิทธิยื่นขอปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวบ้าง

  1.  ผู้ต้องหาหรือจำเลย
  2.  ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้

3.การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวมีกี่ประเภท

          การปล่อยชั่วคราว แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท

  1. การขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกัน เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกเท่านั้น
  2. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว โดยก่อนปล่อยไปผู้ประกันต้องลงลายมือชื่อในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน
  3. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว โดยผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันต้องลงลายมือในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล และมีการวางหลักประกันไว้เพื่อที่จะสามารถบังคับเอากับหลักประกันตามจำนวนที่ระบุไว้ เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน

4.เอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวมีอะไรบ้าง

          1 เงินสด

          บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ต้องหา/จำเลย และผู้ประกัน

หมายเหตุ : กรณีเป็นชาวต่างชาติ ให้นำส่งสำเนาหนังสือเดินทาง จำนวน 3 ชุด พร้อมรับรองสำเนาจากสถานีตำรวจ เว้นแต่ กรณีหนังสือเดินทางอยู่ที่ผู้ต้องหา/จำเลย ให้ผู้ต้องหา/จำเลยส่งหนังสือเดินทางฉบับจริง รับรองสำเนา จำนวน 3 ชุด

               กรณีผู้ต้องหา/จำเลยเป็นชาวต่างประเทศขอปล่อยชั่วคราว ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต่อเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยยินยอมส่งมอบหนังสือเดินทางไว้ต่อศาลด้วย และให้ศาลมีคำสั่งห้ามผู้ต้องหา/จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

         2 ที่ดินหรือห้องชุด

  1.  เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน, หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3ก.) หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (พร้อมสำเนา)
  2.  ราคาประเมินที่ดินหรือราคาประเมินอาคารชุดที่เป็นปัจจุบันซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรับรองไม่เกิน 1 เดือน (พร้อมสำเนา)
  3.  แผนที่การไปที่ตั้งทรัพย์ โดยให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการออกสู่ทางสาธารณะด้วย (แผนที่ต้องเขียนอย่างชัดเจนให้สามารถเดินทางไปได้ถูกต้อง)  
  4.  ภาพถ่ายปัจจุบันของหลักทรัพย์ พร้อมรายละเอียดของทรัพย์ เช่น เลขที่โฉนดที่ดิน บ้านเลขที่ หมู่บ้าน ซอย ถนน ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต สถานที่สำคัญซึ่งอยู่ใกล้เคียง (ภาพถ่ายต้องชัดเจนสามารถบรรยายสภาพทรัพย์ได้)
  5.  กรณีผู้ประกันมีคู่สมรส  ต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ ใบสำคัญการสมรส บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส และหากผู้ขอประกันเป็นหม้ายโดยการตายของคู่สมรสหรือการหย่าต้องแสดงเอกสารใบมรณบัตรคู่สมรสหรือใบสำคัญการหย่า

          3 สมุดบัญชีเงินฝากประจำ/สลากออมสิน/สลากออมทรัพย์ทวีสิน (ธกส.)

  1. สมุดเงินฝากประจำ สลากธนาคารออมสิน สลากออมทรัพย์ทวีสิน (ธ.ก.ส.) ตัวจริง (พร้อมสำเนา)
  2. หนังสือรับรองของธนาคารออกให้ไม่เกิน 1 เดือน (พร้อมสำเนา)
  3. กรณีผู้ประกันมีคู่สมรส  ต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ ใบสำคัญการสมรส บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส และหากผู้ขอประกันเป็นหม้ายโดยการตายของคู่สมรสหรือการหย่าต้องแสดงเอกสารใบมรณบัตรคู่สมรสหรือใบสำคัญการหย่า

          4 บุคคล/ตำแหน่ง

  1. หนังสือรับรองเงินเดือนของหน่วยงานที่สังกัด (พร้อมสำเนา)
  2. หนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชา (พร้อมสำเนา)
  3. ใบสลิปเงินเดือน ระบุรายรับและรายจ่ายที่ถูกหักหนี้สินในเดือนล่าสุด (พร้อมสำเนา)
  4. แผนที่สถานที่ทำงาน และแผนที่ตั้งบ้านอยู่อาศัย    
  5. บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอื่น (แบบฟอร์มศาล ต้องแสดงหลักทรัพย์ ไม่ใช่แสดงบัญชีทรัพย์สินเท่านั้น คือ ต้องมีสำเนาหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์ เช่น สำเนาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของ สำเนาทะเบียนรถยนต์)
  6. กรณีผู้ประกันมีคู่สมรส  ต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ ใบสำคัญการสมรส บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส และหากผู้ขอประกันเป็นหม้ายโดยการตายของคู่สมรสหรือการหย่าต้องแสดงเอกสารใบมรณบัตรคู่สมรสหรือใบสำคัญการหย่า

                   หมายเหตุ  : สามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน ๑๐ เท่าของเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนคงเหลือ แต่ในกรณีที่ใช้ประกันตนเองในฐานความผิดซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพให้ประกันได้ไม่เกิน ๑๕ เท่าของเงินเดือนคงเหลือ (คดียาเสพติดใช้เฉพาะบิดา มารดา คู่สมรส บุพการีผู้สืบสันดาน เท่านั้น)

5.หลักประกันที่ใช้ในการขอปล่อยชั่วคราวมีอะไรบ้าง

หลักประกันที่สามารถนำมาใช้ในการยื่นขอปล่อยชั่วคราวมี ๓ ชนิด คือ

  1. เงินสด
  2. หลักทรัพย์อื่น เช่น 
  • เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน ได้แก่ โฉนดที่ดิน (น.ส.4) หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓, น.ส.๓ ก.)
  • ห้องชุดมีโฉนดที่ดินและหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
  • ทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน สลากออมสินทวีสิน สลาก ธ.ก.ส.
  • หนังสือรับรองจากส่วนราชการค้ำประกันตามระเบียบกระทรวงการคลัง
  • หนังสือรับรองกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ
  • หลักประกันเดิมที่วางไว้เป็นประกันต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ

3. บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกัน ต้องมีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการการเมืองหรือทนายความ และเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย

6.การประกันภัยอิสรภาพคืออะไร

          การประกันภัยอิสรภาพ เป็นการประกันภัยที่จัดทำขึ้นโดยมีแนวความคิดมาจากการที่ศาลยุติธรรมจะจัดระบบการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถใช้หนังสือรับรองความรับผิดของบริษัทประกันภัยเป็นหลักประกันมาวางต่อศาลได้ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมกันจัดให้มีกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันหรือมีไม่เพียงพอ เมื่อประชาชนซื้อประกันภัยอิสรภาพแล้ว บริษัทประกันภัยก็จะออกหนังสือรับรองให้เอาประกันภัยไว้ หากผู้เอาประกันภัยได้กระทำความผิดและตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างระยะเวลาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย จะได้รับความสะดวกจากการที่สามารถใช้หนังสือรับรองนี้ยื่นต่อศาลเพื่อใช้ในการประกันตัวโดยไม่ต้องหาหลักประกันหรือหลักทรัพย์อื่นใดมาวางเป็นประกันซึ่งบริษัทประกันภัยจะคิดเบี้ยประกันภัยแบ่งตามชั้นศาลที่มีคำพิพากษาและฐานความผิด โดยมีอัตราเบี้ยประกันร้อยละ 7 ของวงเงินประกัน

          การทำประกันภัยอิสรภาพมี  2  ประเภท  ดังนี้

1. การทำประกันภัยอิสรภาพก่อนการกระทำความผิด ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดี และถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในฐานความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาท เช่น ประกันอุบัติเหตุรถยนต์ (การประกันตัวผู้ขับขี่ ร.ย.03)

2. การทำประกันภัยอิสรภาพหลังการกระทำความผิด บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถไปติดต่อขอซื้อประกันอิสรภาพจากบริษัทประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยจะออกกรมธรรม์ และหนังสือรับรองให้ตามจำนวนเงินเอาประกันภัยซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลได้

7.ผู้ประกัน/นายประกัน คือใคร

          ผู้ประกันหรือนายประกัน หมายถึง บุคคลที่นำทรัพย์สินของตน ซึ่งเรียกว่าหลักประกันมาวางไว้ต่อศาล เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้หากมีกรณีผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

8.ผู้ประกัน/นายประกันมีหน้าที่อะไร

          เมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว ผู้ประกันมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามเวลาที่ศาลกำหนดนัดจนกว่าศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีและมีคำสั่งให้ความรับผิดชอบตามสัญญาประกันหมดไป หากผู้รับประกันไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามกำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ศาลจะมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามวงเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน ทั้งนี้ กรณีศาลอนุญาตให้ประกันโดยมีเงื่อนไข เช่น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ศาล หรือห้ามออกนอกราชอาณาจักร ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ขอประกันก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น ผู้ประกันจึงต้องคอยติดตามอยู่เสมอว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ที่ใดในระหว่างการปล่อยชั่วคราว
9.จะยื่นขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลได้เมื่อใด

               1. เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาและยังไม่ได้นำตัวมาฝากขังต่อศาลให้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน

               2. เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวนนำตัวมาฝากขังต่อศาล ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล

     3. เมื่อตกเป็นจำเลย

          - โดยพนักงานอัยการนำตัวไปฟ้องศาล

          - ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วคดีมีมูล และศาลประทับรับฟ้อง

      4. เมื่อถูกขังตามหมายศาล เช่น จำเลยที่หลบหนีไปและถูกศาลออกหมายจับ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ หรือกรณีที่พยานไม่มาศาลและถูกศาลออกหมายจับ หรือจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือกักขัง และคดีมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้

10.ขั้นตอนการขอประกันตัว

               1. เขียนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากเจ้าหน้าที่ของศาล และให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อในคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

               2. ผู้ประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพร้อมพยานหลักฐานต่าง ๆ

               3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำร้องและหลักฐาน ลงบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐานแล้วเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้อง

               4. หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ประกันอาจต้องวางหลักประกันตามคำสั่งศาล โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับหลักฐานการขอปล่อยชั่วคราวและใบรับเงินให้

               5. เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว

               6. หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ขอปล่อยชั่วคราวขอรับหลักทรัพย์ที่ยื่นไว้คืนได้จากเจ้าหน้าที่ของศาล และมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตดังกล่าวได้

11.การบริการสังคมแทนค่าปรับ
          เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับ หากจำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับตามคำพิพากษาได้ โดยการทำบริการสังคมแทนค่าปรับตามมาตรา 30/1 โดยทำงานบริการสังคม 1 วันจะเท่ากับค่าปรับ 500 บาท

12.ถอนคือนหลักประกันได้เมื่อใด และใช้เอกสารอะไรบ้าง

          1. เมื่อศาลมีคำพิพากษา, ศาลอนุญาตให้ถอนหลักประกัน หรือสัญญาประกันสิ้นสุด

          2. เมื่อนายประกันนำตัวจำเลยมาส่งคืนต่อศาล

13.ถอนคืนหลักประกันใช้เอกสารอะไรบ้าง

          1. หลักประกันเงินสด ใช้เอกสารดังนี้ (ติดต่อขอรับหลักประกันคืนที่งานการเงิน)

                  1. ใบเสร็จรับเงินประกันตัว
                  2. บัตรประชาชนของนายประกัน
                  3. สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของนายประกัน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
                  4. ใบแจ้งความประสงค์การโอนเงิน (แบบ 4) พร้อมลงลายมือชื่อ

          2. หลักประกันอื่น ใช้เอกสารดังต่อไปนี้ (ที่ดินหรือห้องชุด,สมุดบัญชีเงินฝากประจำ/สลากออมสิน/สลากออมทรัพย์ทวีสิน (ธกส.) )(ติดต่อขอรับหลักประกันคืนที่งานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์)

                  1. ใบรับเอกสารและหลักฐาน (65) (สีขาว)
                  2. บัตรประชาชนของนายประกัน
                  3. แบบขอรับหลักประกันคืน (แบบฟอร์มจากเจ้าหน้าที่)


image เอกสารแนบ